การพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
Main Article Content
บทคัดย่อ
การเกษตรอินทรีย์นับเป็นการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รักษาความสมดุลของระบบนิเวศถือเป็นเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (Organic Products) มีประโยชน์ต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ขณะเดียวกันเป็นการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย จึงทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าอินทรีย์ เนื่องจากเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและยังไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บทความวิชาการนี้นำเสนอการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อชี้ให้เห็นทิศทางการพัฒนาของโลกและนโยบายของประเทศมุ่งเน้นให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ ความต้องการของตลาด และกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้แบ่งเนื้อหา 4 ประการ คือ 1. หลักการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการทำเกษตรที่มุ่งเน้นการสร้างความสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูกทุกชนิด เพื่อเป็นการผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภค 2. คุณสมบัติผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ คือ มีทักษะการผู้จัดการความสมดุลได้ดี เป็นบุคคลกล้าเสี่ยงเป็นทั้งนักยุทธศาสตร์ มีความมั่นใจในตนเอง การยอมรับความรับผิดชอบ วิสัยทัศน์ การแก้ปัญหาที่หลากหลาย มีกระตื้อรื้อร้น การยอมรับความล้มเหลวและการตั้งคำถามเพื่อสร้างความท้าทาย ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม 3. การสร้างความมั่นคงทางอาหาร คือ มีความพร้อมของอาหาร เช่น อาหารที่เพียงพอ การเข้าถึงอาหาร เช่น รายได้ที่เพียงพอหรือทรัพยากรอื่น ๆ และจุดเข้าถึงที่เพียงพอในการซื้อหรือแลกเปลี่ยนอาหาร และการใช้อาหาร เช่น ความรู้ ทักษะ น้ำที่เพียงพอ และอุปกรณ์ประกอบอาหาร เป็นต้น 4. การพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์กับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร คือ ต้องมีการฝึกอบรมและเพิ่มทักษะความรู้ผ่านความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการควรให้การสนับสนุนพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ให้มีทักษะความรู้ตั้งแต่การปลูก การขาย และการดูแลคุณภาพ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพเกษตรกรไทยให้สามารถเข้าถึงช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น ต้องดำเนินการพัฒนา บนพื้นฐานคำว่า “ผลิตได้ ขายเป็น เน้นคุณภาพ” ดังนั้นผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์กับการสร้างความมั่นคงทางอาหารเป็นผสมผสานแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืนเข้ากับเป้าหมายทางสังคมในวงกว้าง มีความสัมพันธ์กับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการส่งเสริมความหลากหลายทางการเกษตร สนับสนุนการผลิตอาหารในท้องถิ่นการจำหน่ายที่เป็นธรรม