เรือเพรียว : บ้านเชียรใหญ่ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องเรือเพรียว : บ้านเชียรใหญ่ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของเรือเพรียว และเพื่อศึกษาขั้นตอนการสร้างของเรือเพรียวบ้านเชียร ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างโดยการเลือกแบบเจาะจงที่มีความรู้เกี่ยวกับเรือเพรียว ได้แก่ ผู้ให้ข้อมูลหลักนายทรงธรรม ภู่ภักดีพันธ์ ช่างต่อเรือ และผู้ให้ข้อมูลรองนายบรรยาย เกษโร ผู้มีประสบการณ์ในการร่วมกิจกรรมเรือเพรียว โดยผู้วิจัยจะสัมภาษณ์โดยใช้เครื่องมือ เป็นโทรศัพท์มือถือในการขออนุญาตบันทึกเสียง และคำถามเชิงลึกเกี่ยวกับเรือเพรียว
ผลการศึกษา พบว่า เรือเพรียวมีประวัติความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต คนบ้านเชียรส่วนใหญ่มีที่อยู่อาศัยและอาชีพที่ต้องอาศัยสายน้ำ ซึ่งแม่น้ำปากพนัง เปรียบเหมือนหัวใจของชาวเชียรใหญ่ ชุมชนบ้านเชียรได้ใช้เรือเพรียวเป็นพาหนะสำหรับเดินทางระหว่างกัน ทำการค้าขาย หาอาหาร และสำหรับการแข่งขัน โดยในอดีตเรือเพรียวจะเป็นเรือขุด จากต้นไม้ทั้งต้น แต่ต่อมาด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม้ใหญ่ไม่มีหลงเหลือ จึงต้องประยุกต์เป็นลักษณะของเรือต่อ ชาวเรือเพรียวมีความเชื่อและพิธีกรรมบูชาแม่ย่านาง ไหว้เรือ แม่ย่านางเรือ คือพิธีกรรมและการบวงสรวงแม่ย่านางเรือ ชาวเรือมีความเชื่อว่า เรือแต่ละลำมีแม่ย่านางปกปักรักษา ดังนั้นก่อนเดินทางออกเรือหรือก่อนการแข่งขัน ชาวเรือจะทำพิธีบูชาหรือพิธีบายศรีสู่ขวัญแม่ย่านางตามตำรับโบราณ ฝีพายเรือและชาวบ้าน หลังจากการเสร็จกิจกรรมจะมีพิธีเลี้ยงเรือ เป็นการเซ่น บวงสรวงเพื่อขอบคุณแม่ย่านางเรือ แม่คงคา แม่ธรณี และถือเป็นการสังสรรค์ของฝีพายอีกด้วย และผลการศึกษาขั้นตอนการสร้างของเรือเพรียว พบว่า ช่างทำเรือนิยมขุดไม้ตะเคียนทองทั้งต้น เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็งที่เหนียว ไม่ผุง่าย ลอยนํ้า สามารถพายได้เร็วกว่า หากดูแลดีจะมีอายุการใช้งานนับร้อยปี ที่สำคัญเชื่อกันว่ามีนางไม้ หรือวิญญาณที่แกร่งกล้าสถิตย์อยู่ เมื่อนำมาขุดเป็นเรือยาวก็จะเชิญนางไม้ขึ้นเป็น “แม่ย่านางเรือ” เรือยาวส่วนใหญ่นิยมตั้งชื่อเรือนำหน้าว่า เจ้าแม่ หรือ เทพ ขั้นตอนการสร้างเรือเพรียว 7 ขั้นตอน การขุดโกลนเรือ การเบิกเรือ การวางกงเรือ การวางกระทงเรือ กระทง การติดกราบเรือ การติดโขนเรือ และการตั้งชื่อเรือ
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์ เป็นลิขสิทธิ์ของวิทยาลัยชุมชนพังงา
References
สิงห์บุรี วีรชนคนกล้า : สายธาราวัฒนธรรม, หน้า 209.
ณัฐกานต์ เถาศล. (2560). เรือ : ภูมิปัญญากับวิถีชีวิตพื้นบ้านและบทบาทในสังคมไทยภาคกลาง. ดุษฎีนิพนธ์. สาขาวิชาไทยศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.
อิงตะวัน แพลูกอิ่นทร์ และนิรันดร์ เรือนอินทร์. (2547). เรือ : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้านในลุ่มน้ำ
บางปะกง. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.
สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์. แหลงใต้. สืบค้น 2567 ครั้งที่ 31 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม.